อนาคตประเทศไทยกับ TPP และ RCEP (ASEAN+6)
ในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเห็นเป็นกระบวนการทั้งหมดนี้ สิ่งที่เราทุกคนควรรู้และ เข้าใจก็คือ การรวมตัวของกลุ่มเศรษฐกิจเหล่านี้ได้เกิดขึ้นแล้วและจะไม่มีวันหมุนย้อนกลับอย่างแน่นอน.....ท่ามกลางสถานการณ์ของโลกที่กำลังเปลี่ยนไป ประเทศไทยเรากำลังจะได้รับผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ
กระแสเศรษฐกิจขณะนี้ นอกจากการจับตามองถึง "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" หรือ "AEC" ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้แล้ว ตัวแปรสำคัญที่ทั่วโลกคาดว่าจะเกิดผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจไม่แพ้กันก็คือ การเกิดขึ้น Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement หรือTPP และการเกิดขึ้น Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP ซึ่งเรารู้จักเรียกขานกันในชื่อของ "อาเซียนบวกหก" นั่นเอง
การที่เราจะกำหนดทิศทาง ตลอดจนถึงเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการรวมตัวของกลุ่มเศรษฐกิจเหล่านี้ได้นั้น ปัจจัยสำคัญก็คือ การทำความเข้าใจหลักการพื้นฐานในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
หากย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น หลังหมดยุคสงครามเย็น ตัวแปรสำคัญของการเติบโตในแต่ละประเทศทั่วโลก ไม่ใช่ประเด็นเรื่องของความมั่นคงอีกต่อไป โลกได้พลิกโฉมกลายเป็นการแข่งขันในด้านเศรษฐกิจ ทุกประเทศล้วนเข้าสู่สถานการณ์ที่มุ่งขยายตัวทางการค้า
ในขณะเดียวกัน ภายใต้แรงกดดันและความกังวลว่าประเทศสหรัฐอเมริกากำลังจะเข้าครอบงำเศรษฐกิจทั่วโลก ประเทศต่างๆ จึงเกิดกลยุทธ์การรวมตัวกันในทางเศรษฐกิจ ด้วยเป้าหมายทั้งเพื่อเป็นการถ่วงดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกา และเพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของตนเองด้วยในเวลาเดียวกัน
การรวมตัวในทางเศรษฐกิจของโลกนี้มีสูตรสำเร็จอยู่แล้ว โดยเริ่มต้นจาก
ขั้นที่ 1 : รวมตัวเพื่อเปิดเขตการค้าเสรี (Free trade)
ขั้นที่ 2 : การรวมตัวกันเป็นสหภาพศุลกากร (Custom union)
ขั้นที่ 3 : การรวมตัวกันเป็นตลาดร่วม (Single market หรือ Economic community)
และในขั้นที่สูงสุดเกินกว่าขั้นที่ 3 ขึ้นไปนั้น ในโลกนี้มีแค่กลุ่มเดียวที่ไปถึง นั่นคือ การรวมตัวกันใน
ลักษณะของ "สหภาพเศรษฐกิจ" โดยสหภาพยุโรป (EU) นั่นเอง
สำหรับประเทศในอาเซียน การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจก็เป็นไปตามลำดับนี้เช่นเดียวกัน โดยเริ่มต้นจากการรวมกลุ่ม AFTA ที่เน้นเปิดเขตการค้าเสรี แต่เนื่องจากอาเซียนมีประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีลักษณะพิเศษคือ เป็นประเทศ Free trade จึงทำให้ไม่สามารถรวมกันในขั้นที่ 2 คือ สหภาพศุลกากรได้ ดังนั้นอาเซียนจึงข้ามเข้าสู่การรวมตัวขั้นที่ 3 คือเข้าสู่การเป็นตลาดร่วมหรือ AEC เลย
เราจะมองเห็นว่า การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจทำให้เกิดการเปิดเสรีหลายระดับ สิ่งเหล่านี้มีความเป็นพลวัต เมื่อเริ่มต้นจากการเปิดเขตการค้าเสรี นั่นหมายถึงเฉพาะตัวสินค้า หลังจากนั้นสิ่งที่จะต้องขับเคลื่อนตามมาอัตโนมัติก็คือ ความต้องการด้านบริการ การลงทุน และแรงงาน สิ่งเหล่านี้คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้กลุ่มเศรษฐกิจต่างๆ จำเป็นต้องพัฒนาความร่วมมือให้ลึกขึ้นจากขั้นที่ 1 ไปสู่ขั้น 2 และ 3 ตามลำดับ
ธรรมชาติของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจยังก้าวหน้าต่อไป เมื่อ "รวมลึก" แล้วจำเป็นจะต้องมีการ "รวมกว้าง" ก่อให้เกิดความร่วมมือในรูปแบบของทวิภาคี พหุภาคี เป็นกรอบที่ใหญ่ขึ้น ขยายอาณาเขตความร่วมมือมากยิ่งขึ้น
"อาเซียนบวกสาม" และ "อาเซียนบวกหก" จึงเกิดขึ้น โดยเริ่มต้นจากเป้าหมายการเปิดเขตการค้าเสรีก่อนเช่นเดียวกัน จากนั้นพัฒนาต่อมาจนถึงแนวคิดล่าสุดคือ Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP ซึ่งเป็นการเปิดเสรีของอาเซียนกับ 6 ประเทศในลักษณะเป็นตลาดร่วมทั้งเรื่องของสินค้า บริการ การลงทุน และตลาดแรงงาน
ในขณะเดียวกัน หากมองในภาพกว้าง ข้ามไปฝั่งแปซิฟิก มีการรวมตัวของกลุ่มเศรษฐกิจใหญ่กลุ่มหนึ่งที่มีทั้งประเทศในอาเซียน เอเชียแปซิฟิก ละตินอเมริกา รวมไปถึงพี่เบิ้มอย่างสหรัฐอเมริกา ในชื่อของกลุ่ม APEC
การรวมกันของ APEC มีเป้าหมายเพื่อเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างกัน แต่ด้วยเหตุผลหลายปัจจัยทำให้การรวมตัวของ APEC ไม่ก้าวหน้าไปมากเท่าที่ควร ประเทศในกลุ่ม APEC จำนวน 9 ประเทศจึงรวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อยที่ชื่อว่า Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement หรือ TPP ซึ่งหากมองถึงตรงนี้แล้ว อาจกล่าวได้ว่า TPP เปรียบเสมือนเป็นตัวเร่งปฏิกริยาให้ APEC สามารถดำเนินการเพื่อบรรลุถึงวัตถุประสงค์ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นในอนาคตนั่นเอง
สำหรับประเทศไทยนั้น ปัจจุบันเราเป็นหนึ่งในประเทศความร่วมมือของ RCEP แต่สำหรับ TPP ยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดหมายว่าด้วยสถานการณ์การขับเคลื่อนของการเมืองและเศรษฐกิจโลก ไม่ช้าก็เร็วประเทศไทยคงจะต้องเข้าสู่ความร่วมมือของกลุ่มเศรษฐกิจนี้อย่างค่อนข้างแน่นอน
ดังนั้น ในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเห็นเป็นกระบวนการทั้งหมดนี้ สิ่งที่เราทุกคนควรรู้และเข้าใจก็คือ การรวมตัวของกลุ่มเศรษฐกิจเหล่านี้ได้เกิดขึ้นแล้วและจะไม่มีวันหมุนย้อนกลับอย่างแน่นอน.....ท่ามกลางสถานการณ์ของโลกที่กำลังเปลี่ยนไป ประเทศไทยเรากำลังจะได้รับผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ
ในทางบวกเชื่อได้แน่นอนว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ การค้าของเรากับประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น จะเกิดการขยายตัวอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จะมีคนสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเยอะขึ้น ทั้งนี้เพราะนักลงทุนจะมองจำนวนประชากรในภาพใหญ่คือ อาเซียนบวกสาม อาเซียนบวกหก และหากบวก TPP เข้าไปด้วย นั่นทำให้จำนวนคนจะทวีมากขึ้นเป็นหลายพันล้านคน
เศรษฐกิจของประเทศไทยจะไปเชื่อมโยงกับภูมิภาค อาเซียนบวกสาม อาเซียนบวกหก และเอเชียแปซิฟิกมากยิ่งขึ้น แนวโน้มจะมีการเปลี่ยนแปลงมาก ประเทศไทยเราจะถูกสถานการณ์โดยภาพรวมฉุดให้ดีขึ้น
แต่ในด้านลบก็คือ จากนี้ไปจะเกิดการเปลี่ยนแปลงการแข่งขันความสามารถทางเศรษฐกิจเยอะมาก ธุรกิจในภาคเล็กๆ อย่างพวกเอสเอ็มอี เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา รวมถึงกลุ่มอาชีพที่ขณะนี้ยังไม่มีการปรับตัวเพื่อเตรียมการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะได้รับผลกระทบด้านลบ
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนเป็นพลวัต เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงตามลำดับอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น เรายังมีเวลาในการเตรียมตัว ธุรกิจทุกภาคส่วนควรจะติดตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เตรียมตัวเองให้ทัน ไม่ควรปล่อยให้เป็นภาระของภาครัฐจัดการอย่างเดียว เพราะเมื่อถึงวันนั้นแล้ว ทุกอย่างอาจจะสายเกินไป!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น