วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558

RCEP : ความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค

ความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP)

 
ความเป็นมา
อาเซียนได้ตั้งเป้าหมายที่จะจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) โดย มีการดำเนินงานการรวมกลุ่มเศรษฐกิจใน 2 แนวทางคู่ขนานกัน คือ (1) การรวมกลุ่มภายในอาเซียน ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดในการก้าวไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2558 เพื่อให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน และ(2) การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกโดยการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTAs) ซึ่งปัจจุบันอาเซียนได้จัดทำ FTA กับประเทศคู่ค้ารวม 5 ฉบับ กับ 6 ประเทศ ได้แก่ (1) อาเซียน-จีน (2) อาเซียน-ญี่ปุ่น (3) อาเซียน-เกาหลี (4) อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และ (5) อาเซียน-อินเดีย รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะทำความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่และครอบคลุมระดับการเปิดเสรีมากขึ้นโดยเริ่มจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก หรืออาเซียน+3 และอาเซียน+6 ซึ่ง อาเซียนและประเทศคู่เจรจาได้ร่วมกันจัดทำผลการศึกษาของกรอบ อาเซียน+3 และอาเซียน+6 ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 – 2551

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) เป็นการพัฒนามาจากแนวคิด ASEAN+6 ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องของอาเซียนในการบรรลุวัตถุประสงค์ของการสร้างให้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เป็นภูมิภาคที่สามารถบูรณาการระบบเศรษฐกิจของตนเข้ากับระบบเศรษฐกิจภายนอกภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถรักษาบทบาทของอาเซียนในการเป็นแกนกลางขับเคลื่อนการรวมกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้นในภูมิภาคไว้ในขณะเดียวกัน ดังนั้น RCEP จึงเป็นการดำเนินงานอันสำคัญของอาเซียนในการบูรณาการเศรษฐกิจเข้ากับภายนอกตามแผน AEC Blueprint

เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 19 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ผู้นำได้รับรองเอกสารกรอบอาเซียนสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (ASEAN Framework for Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่จะจัดทำความตกลงฉบับองค์รวมที่พัฒนาจากความตกลงการค้าเสรีของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (ASEAN FTA Partners – AFPs) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ประเทศ คือ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์  

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 อาเซียนและประเทศ +6 จึงตั้งคณะทำงานด้านเทคนิค 3 ด้าน คือ การค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน เพื่อเตรียมแนวจัดทำหลักการทั่วไปสำหรับการเจรจาในแต่ละด้าน (Guiding Principles) เพื่อเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการเจรจาแต่ละด้าน โดยในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2555 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและประเทศ+6 จึงได้รับรองเอกสารว่าด้วยหลักการทั่วไปและวัตถุประสงค์ของการเจรจา RCEP (Guiding Principles and Objectives for Negotiating the Regional Comprehensive Economic Partnership)

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ผู้นำอาเซียนและประเทศคู่เจรจาได้ออกปฏิญญาร่วมว่าด้วยการประกาศการเริ่มเจรจาความตกลง RCEP (Joint Declaration on the Launch of Negotiations for the RegionalComprehensive Economic Partnership) เพื่อประกาศเริ่มการเจรจา RCEP อย่างเป็นทางการและตั้งเป้าหมายเจรจาให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 (ซึ่งเป็นปีเดียวกับเป้าหมายการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)) โดยประเทศสมาชิก 16 ประเทศเริ่มหารือเพื่อจัดทำแนวทางการเจรจา (Scoping Papers) ของด้านการค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุน โดยใช้พื้นฐานจาก Guiding Principles ซึ่งจะเป็นการระบุองค์ประกอบและเนื้อหาสำคัญเพื่อกำหนดทิศทางการเจรจาร่วมกันในเบื้องต้น

กรอบการเจรจา RCEP ASEAN Framework for Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP)
ความตกลง RCEP จะเป็นความตกลงแบบองค์รวม (Comprehensive Agreement) ที่มีมาตรฐานสูง ประกอบไปด้วยความร่วมมือทั้งเชิงลึกและเชิงกว้างกับประเทศสมาชิก RCEP โดยจะครอบคลุมทุกมิติในด้านการเข้าถึงตลาด โดยตั้งเป้าที่จะลดภาษีระหว่างกันให้ได้มากที่สุด รวมถึงการลดอุปสรรคทางการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน และจะเปิดกว้างผนวกประเด็นใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน อาทิ เรื่องนโยบายการแข่งขัน และทรัพย์สินทางปัญญา เข้าไปในความตกลงด้วย

กลไกการดำเนินการ
รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้เห็นชอบการจัดตั้งคณะเจรจา RCEP หรือ “RCEP Trade Negotiating Committee” (RCEP-TNC) และรับรองแนวทางการดำเนินงาน (TOR ของ TNC) เพื่อเป็นกลไกหลักในการเจรจาความตกลงฯ

ร่างแผนการดำเนินงาน/การประชุมภายใต้กรอบ RCEP (ปัจจุบัน – ปี 2558)
1. ประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP ครั้งที่ 2 ณ เมืองบริสเบน ออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 23 – 27 กันยายน 2556
2. ประชุม RCEP Summit ณ ประเทศบรูไน รายงานผลความคืบหน้าการเจรจา RCEP ระหว่างวันที่ 9- 10 ตุลาคม 2556
3. ประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP ครั้งที่ 3 ณ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 21 – 25 มกราคม 2557
4. ประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP ครั้งที่ ณ ประเทศสาธารณรัฐปประชาชนจีน ช่วงเดือนเมษายน 2557
5. ประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP ครั้งที่ 5 ช่วงเดือนกรกฎาคม 2557
6. ประชุม RCEP Ministerial Meeting ครั้งที่ 2 ณ ประเทศเมียนมาร์ ช่วงเดือนกรกฎาคม 2557
7. ประชุม RCEP Summit ณ ประเทศเมียนมาร์ รายงานผลความคืบหน้าการเจรจา RCEP ช่วงเดือนตุลาคม 2557
8. ประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP ครั้งที่ 6 ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2557
9. ประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP ครั้งที่ 7 ช่วงเดือนมกราคม 2558
10. ประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP ครั้งที่ 8 ช่วงเดือนเมษายน 2558
11. ประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP ครั้งที่ 9 ช่วงเดือนมิถุนายน 2558
12. ประชุม RCEP Ministerial Meeting ครั้งที่ 3 ณ ประเทศมาเลเซีย ช่วงเดือนสิงหาคม 2558
13. ประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP ครั้งที่ 10 ช่วงเดือนกันยายน 2558
14. ประชุม RCEP Summit ณ ประเทศมาเลเซีย เพื่อรายงานผลความคืบหน้าการเจรจา RCEP ช่วงเดือนตุลาคม 2558

ความสำคัญของการจัดทำความตกลง RCEP

1. หนึ่งในแผนงานการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องภายใต้ AEC Blueprint ของอาเซียนในการบรรลุวัตถุประสงค์ของการสร้างให้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เป็นภูมิภาคที่สามารถบูรณาการระบบเศรษฐกิจของตนเข้ากับระบบเศรษฐกิจภายนอกภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถรักษาบทบาทของอาเซียนในการเป็นแกนกลางขับเคลื่อน (ASEAN Centrality) การรวมกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้นในภูมิภาคไว้ โดยประเทศอาเซียนและคู่เจรจามีเป้าหมายที่จะให้การเจรจาความตกลง RCEP เป็นความตกลงยุคใหม่และมีคุณภาพสูงทันสมัยทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง ครอบคลุมทุกมิติการค้า และเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิต การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศผู้เข้าร่วมเข้าไว้ด้วยกันและครอบคลุมประเด็นการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน เช่น การแข่งขัน ทรัพย์สินทางปัญญา และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการรวมตัวทางภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน  

2. ผู้นำอาเซียนและคู่เจรจาได้รับรองให้เจรจากรอบ RCEP ผู้นำอาเซียนและประเทศคู่เจรจาได้ออกปฏิญญาร่วมว่าด้วยการประกาศการเริ่มเจรจาความตกลง RCEP (Joint Declaration on the Launch of Negotiations for the Regional ComprehensiveEconomic Partnership) ในวันที่ 20 พ.ย. 2555 เพื่อเป็นการประกาศเริ่มการเจรจา RCEP และตั้งเป้าหมายเจรจาให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 โดยได้กำหนดแผนงานการประชุมอย่างเข้มข้นตั้งแต่ปี 2556 – 2558 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการสรุปผลให้สำเร็จในปี 2558 โดยในปี 2557 กำหนดการประชุมทั้งในระดับรัฐมนตรี (RCEP Ministerial Meeting), การประชุมหัวหน้าคณะเจรจาการค้า (RCEP – TNC) และการประชุมในระดับคณะทำงาน/คณะทำงานกลุ่มย่อยโดยมีเป้าหมายเบื้องต้นที่จะสรุปรูปแบบการลดภาษีสินค้าให้ได้ภายในกลางปีหน้า

3. ตลาดการค้าใหญ่
จากการที่ RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรีระหว่าง 16 ประเทศ ทำให้การเจรจาจัดทำกรอบ RCEP ครอบคลุมตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรรวมกันกว่า 3,358 ล้านคน หรือคิดเป็น 50% ของประชากรโลก และมี GDP รวมกันถึง 17,100  พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ข้อมูลปี 2555) หรือคิดเป็น 27ของ GDP โลก หรือ อาจเรียกได้ว่า RCEP เป็น FTA ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดฉบับหนึ่งของโลก

4. โอกาสทางการค้า (ทั้งการค้าสินค้าและการค้าบริการ) ระหว่างประเทศไทยกับสมาชิก RCEP กรอบ RCEP
- สินค้าที่ไทยอาจได้เปรียบในการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะ ผัก ผลไม้แปรรูป อาหาร เคมีภัณฑ์ พลาสิตก ยาง เป็นต้น
- สินค้านำเข้าของไทยจากประเทศสมาชิก เป็นสินค้าที่เกื้อกูลกัน เพราะเป็นสินค้าวัตถุดิบที่ใช้เพื่อจัดทำสินค้าสำเร็จรูปต่อไปในไทย เช่น เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นต้น
- การค้าบริการที่ไทยมีศักยภาพในการให้บริการ ได้แก่ บริการด้านการธนาคาร (โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน) ก่อสร้าง ท่องเที่ยวด้านโรงแรม และร้านอาหาร และสปา อย่างไรก็ดี ด้านการเงินและก่อสร้าง ไทยมีศักยภาพในบางประเทศ เช่นในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน และอินเดีย

5. เกิดการสร้างโครงข่ายการผลิต (Production Network) เป็นแรงส่งให้ไทยมีโอกาสปรับโครงสร้างการผลิต ระหว่างอุตสาหกรรมต่างๆ โดยการโอนย้ายการผลิตในอุตสาหกรรมที่ความสามารถในการแข่งขันต่ำและมีแนวโน้มถดถอยโดยไปลงทุนในประเทศอื่น และเพิ่มการผลิตในอุตสาหกรรมที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง รวมถึงอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพใหม่ๆ โดยการสร้างความแตกต่างในสินค้า เกิดการหาแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพและราคาถูกลงได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภค

ความคืบหน้าล่าสุด (ตุลาคม 2557)
คณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP เตรียมจัดประชุมเพิ่มเติมระหว่างวันที่ 27 – 28 ตุลาคม 2557 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อหาข้อสรุปประเด็นติดค้างสำคัญด้านรูปแบบการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ให้แล้วเสร็จก่อนการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP (RCEP – TNC) ครั้งที่ 6 ที่จะมีขึ้นช่วงต้นเดือนธันวาคม 2557 ณ ประเทศอินเดีย
นายธวัชชัย  โสภาเสถียรพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงรักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจRCEP ครั้งที่ 2 เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา รัฐมนตรีได้เร่งให้เจ้าหน้าที่สรุปหาท่าทีร่วมกันในประเด็นติดค้างสำคัญด้านรูปแบบการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุนคณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP จึงกำหนดให้มีการประชุมเพิ่มเติมระหว่างวันที่27 – 28 ตุลาคม 2557 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อหาข้อสรุปให้แล้วเสร็จก่อนการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP (RCEP – TNC) ครั้งที่ 6 ที่จะมีขึ้นช่วงต้นเดือนธันวาคม 2557 ณ ประเทศอินเดีย
นายธวัชชัย กล่าวถึงประเด็นที่จะหารือในการประชุมครั้งนี้ว่าที่ประชุมจะหารือใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุนและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยในประเด็นด้านการค้าสินค้า พยายามหาข้อสรุปให้ได้ว่ารูปแบบของการเปิดเสรีสินค้าสำหรับยื่นข้อเสนอยกเลิกภาษีนำเข้าในกลุ่มแรก(Initial Offer) จะเป็นอย่างไร จะกำหนดให้จำนวนรายการสินค้าในกลุ่มแรกเปิดตลาดร้อยละเท่าไหร่และรายการสินค้าที่เหลือจะลดหรือยกเลิกภาษีกันอย่างไร เพื่อเป็นฐานเริ่มต้นเพื่อต่อยอดการเปิดตลาดในกรอบ RCEP ได้ดีกว่าความตกลง FTA ที่อาเซียนกับคู่เจรจามีอยู่ในปัจจุบัน 5 ฉบับ (ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน– จีน ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – เกาหลีใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน– ญี่ปุ่น และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – อินเดีย)
ในด้านการค้าบริการพยายามหาข้อสรุปให้ได้ว่ารูปแบบการเปิดตลาดการค้าบริการในรูปแบบใดที่จะเหมาะสมกับประเทศสมาชิกRCEP โดยมีการนำเสนอรูปแบบการเปิดตลาดหลายรูปแบบ อาทิ รูปแบบการเปิดตลาดโดยผูกพันสาขาบริการที่แต่ละประเทศพร้อมเปิด (Positive List Approach) หรือ ระบุเฉพาะสาขาและมาตรการที่ไม่ต้องการเปิดตลาดลงไปในตารางข้อผูกพัน (Negative List Approach) หรือรูปแบบการเปิดตลาดในรูปแบบอื่นๆ
สำหรับการลงทุนที่ประชุมยังไม่มีท่าทีร่วมกันถึงรูปแบบการเปิดตลาดการลงทุนที่ใช้แนวทางการเปิดตลาดที่ระบุสาขาและมาตรการที่ไม่ต้องการเปิดเสรีลงไปในตารางข้อผูกพัน(Negative List Approach) ซึ่งเป็นแนวทางที่ยอมรับในทุกความตกลงการค้าเสรีอาเซียนกับคู่เจรจา
นอกจากนี้ที่ประชุมจะหารือเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ว่าควรมีขอบเขตอย่างไร ทั้งนี้ทุกประเทศเห็นว่าการเจรจาเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ภายใต้กรอบ RCEP จะช่วยเสริมสร้างให้ RCEP เป็นความตกลงที่ทันสมัยและมีคุณภาพสูงตามเจตนารมณ์เพราะพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า ลดต้นทุนการดำเนินการของผู้ประกอบการรวมถึงส่งเสริมการทำธุรกิจของ SME ในประเทศภาคีอีกด้วย
หากการประชุมครั้งนี้สามารถหาข้อสรุปการเจรจาดังกล่าวข้างต้นจะทำให้การเจรจาดำเนินการต่อไปได้อย่างมีทิศทาง และเป็นไปตามเป้าหมายที่ผู้นำกำหนดให้สรุปผลการเจรจา RCEP ภายในสิ้นปี 2558 โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในภูมิภาค RCEP ซึ่งจะกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกครอบคลุมประชากรกว่า3 พันล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 50ของประชากรโลก มีมูลค่าการค้ารวมกันสูงถึง 10.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 29 ของการค้าโลก และครอบคลุมตลาดส่งออกของไทยกว่าร้อยละ 57 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด        
ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ ได้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจา ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีนอินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ความตกลง RCEP ถือเป็นความริเริ่มของอาเซียนเพื่อแสดงเจตนารมณ์ของอาเซียนที่จะจัดทำความตกลงRCEP โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการรวมกลุ่มของภูมิภาคRCEP มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นความตกลงที่ทันสมัย ครอบคลุมมีคุณภาพสูงและเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก RCEP โดยจะครอบคลุมด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุนนโยบายแข่งขันทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ กฏหมายและประเด็นอื่นๆ




Date Posted: 23/6/2552
Date Modified: 28/10/2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น