วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558

RCEP เพิ่มขีดแข่งขันอาเซียน เชื่อมเครือข่ายผลิต-การค้า-ลงทุน

RCEP เพิ่มขีดแข่งขันอาเซียน เชื่อมเครือข่ายผลิต-การค้า-ลงทุน

นอกเหนือจากการให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 แล้ว การคิดการณ์ไกลถึงการปรองดองการค้าทั้งอาเซียน+3 และอาเซียน+6 ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ทั้ง 10 ประเทศสมาชิกควรร่วมมือกันพัฒนาภูมิภาคอาเซียนให้มีจุดแข็งเป็นที่ยอมรับของเวทีโลกได้
ในงานเสวนา "AEC and SMEs Challenges : Next Steps (Phase 5)" ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน กรุงเทพฯ จึงพุ่งประเด็นสู่การเจรจาความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่จำเป็นต้องนำมาศึกษา และร่วมถกปัญหาให้ครอบคลุมทุกมิติการค้า เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิต การค้า บริการ และการลงทุน โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน อาทิ การแข่งขันทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น การรวมตัวกันของอาเซียนกับอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ นับเป็นก้าวสำคัญของยุทธศาสตร์การค้าระหว่างไทยและอาเซียน
ปัจจุบันมูลค่าการค้าขายของไทยกับ RCEP ราว 255,000 ล้านเหรียญ หรือ 56% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย และการเปิดเสรีการค้าจะทำให้ไทยมีโอกาสขยายการค้าเพิ่มขึ้นด้วยดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการและรักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวเพิ่มว่า ควรให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เมื่อไทยก้าวเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์
หลักการสำคัญของ RCEP คือการสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน โดยจะพัฒนาต่อยอดจากความตกลงการค้าเสรีในปัจจุบันของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาในลักษณะ"Comprehensive Agreement" หรือข้อตกลงที่ครอบคลุมทุกมิติ
นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวปาฐกถาในเรื่อง "การเชื่อมโยงอาเซียนกับ 6 ประเทศ" ว่า การปรับตัวและหาโอกาสทางการค้าและการลงทุน เพื่อสร้างความแกร่งให้กับธุรกิจในอนาคต รวมถึงภาคธุรกิจ SMEs ที่คิดเป็นสัดส่วนกว่า 37% ของเศรษฐกิจไทย
แม้มีจุดเน้นที่แตกต่างกันแต่ความเชื่อมโยงก็มีหลากหลายมิติ ทั้งในด้านการคมนาคม เศรษฐกิจ กฎระเบียบ และการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน
ในมุมมองของนายสีหศักดิ์ RCEP หรือ Game Changer เชื่อว่าจะเปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจของภูมิภาคได้ เพราะเหตุผลดังต่อไปนี้ 1.อาเซียน+6 จะกลายเป็นกลุ่มการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรราว 45% ของประชากรโลก 2. เป็นการย้ำถึงบทบาทของเอเชียตะวันออกที่เป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลก 3. เป็นการกระตุ้นการค้าภายในภูมิภาคมากขึ้น จากปัจจุบันที่มูลค่าการค้าระหว่างประเทศอาเซียนอยู่ที่ 25% ของมูลค่าการค้าต่างประเทศทั้งหมดในอาเซียน ซึ่งเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าภายในกลุ่มประเทศอียูที่ 75% จะเห็นว่าการค้าภายในกลุ่มอาเซียนยังสามารถเติบโตได้อีกมาก
ส่วนประเด็นความคืบหน้าการเจรจา RCEP นางนิศา ศรีสุวรนันท์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า AEC Blueprint หรือการกำหนดยุทธศาสตร์การเป็นประชาคมอาเซียน โดยมีพื้นฐานความเข้าใจที่ตรงกัน
คือ 1.การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน 2.การเป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง 3.การเป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน และ 4.การเป็นภูมิภาคที่มีการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกโดยนางนิศาย้ำว่า ขณะนี้การเจรจา RCEP เริ่มต้นด้วยดี ประเทศร่วมเจรจาอย่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เห็นถึงความสำคัญด้านการค้าบริการและการลงทุน ซึ่งล่าสุดการเจรจากับประเทศที่ 7 คือฮ่องกง ดูเหมือนว่าจะเป็นทิศทางบวกเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันข้อตกลง 6 ฉบับ (จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดีย, ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และฮ่องกง) ยังคงดำเนินการยกระดับข้อตกลงและใช้กฎระเบียบที่ยอมรับร่วมกัน เช่น ภาษีและกฎหมาย เป็นต้น
ขณะที่ผู้แทนจากกลุ่มประเทศอาเซียน และอาเซียน+6 ได้แก่ น.ส.แชนนอน ออสติน รองผู้ช่วยคณะผู้แทนของเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย , นายลิว ซุง วู เลขานุการด้านการค้าของเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย , นายนาวีน สักเซนา เลขานุการเอก (ฝ่ายเศรษฐกิจและการพาณิชย์) ของเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ต่างเห็นพ้องไปทางเดียวกันว่า ไทยควรปรับเปลี่ยนนโยบายด้านกฎหมายให้เคร่งครัดและรัดกุมมากขึ้น ซึ่งกฎหมายยังไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจระหว่างประเทศเท่าที่ควร ทั้งที่การก้าวเป็นส่วนหนึ่งในภูมิภาคเดียวกันจะเพิ่มความเสรีมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยให้มีการเตรียมพร้อมก่อนการก้าวสู่อาเซียน+6 มีความสำคัญในฐานะที่อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสูง ซึ่งต้องร่วมมือกันรักษาและขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เทียบเคียงกับเวทีโลกได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
หมวดหมู่ของข่าว: 
แหล่งข่าว: 
ประชาชาติธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น