วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558

RCEP คืออะไร

RCEP คืออะไร

Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) คือ ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค ที่เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง ASEAN 10 ประเทศ กับคู่ภาคีที่มีอยู่ 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
การรวมกลุ่มเศรษฐกิจที่เรียกว่า RCEP เป็นชื่อเรียกใหม่ที่หลายคนอาจไม่คุ้น แต่หากบอกว่าเป็นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจที่เรียกว่า อาเซียนบวก 6 (ASEAN +6) น่าจะคุ้นชินมากขึ้น เพราะในกระแสการพูดเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community : AEC) มักจะมีการเชื่อมโยงพูดถึงตลาดนอกอาเซียนที่มีขนาดใหญ่่ขึ้น กว้างขึ้นอย่าง ASEAN +6 อยู่เสมอ
แต่การตื่นตัวเรื่อง RCEP มีมากขึ้นหลังจากการประชุมอาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 21 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 ผู้นำของทั้ง 16 ประเทศ ได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะเจรจาความตกลง RCEP ในต้นปี 2556 และมุ่งหมายให้การเจรจาแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2558
โดยความตกลง RCEP พัฒนามาจากความตกลงการค้าเสรีที่อาเซียนมีอยู่แล้ว 5 ฉบับ กับ 6 ประเทศ คือ อาเซียน-จีน, อาเซียน-ญี่ปุ่น, อาเซียน-เกาหลี, อาเซียน-อินเดีย และอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์
จุดมุ่งหมายเพื่อให้ RCEP เป็นความตกลงที่มีคุณภาพและทันสมัย บนผลประโยชน์ร่วมกันอย่างรอบด้านในการสนับสนุนการขยายการค้าและการลงทุนในภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน เป็นระบบการค้าเสรีที่ใช้กฎระเบียบเดียวกันของภาคีทั้งหมด 16 ประเทศ
นอกจากนี้ ยังเป็นไปเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจของอาเซียนเข้ากับเศรษฐกิจโลก (Global Supply Chain) ครอบคลุมทุกมิติการค้า ทั้งด้านสินค้า บริการ ลงทุน มาตรการการค้า และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิต การค้าและการลงทุน ให้สอดคล้องและมีความสะดวกทางการค้าและการลงทุนมากขึ้น
RCEP-Map-550-529x620

โดยเป้าหมายของ RCEP มีกรอบการเจรจา คือ
1. ครอบคลุมทุกมิติที่กว้างขึ้น เช่น รายการสินค้า จากที่เคยลดรวม 95% ต้องลดมากกว่า 95%
2. กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin: ROO) มีความจำเป็นจะต้องสะท้อนให้สมาชิกเป็น Global Supply Chain ให้ได้
3. ลดกฎระเบียบการค้าและบริการให้มากที่สุด
4. การลงทุนเปิดเสรี อำนวยความสะดวก ต้องทำให้เกิดบรรยากาศการแข่งขันทางการลงทุน การส่งเสริมและคุ้มครองการเปิดเสรีจะต้องมี Capacity Building ผลักดัน FTAs ที่จะเกิดขึ้นก้าวต่อไปได้ในระดับที่ใกล้เคียงกัน
5. RCEP ต้องไกลกว่า ASEAN +1 สิ่งที่จะทำต้องมีประโยชน์ต่อทุกประเทศ (ประเทศกำลังพัฒนาด้วย) เป็นความตกลงรวมกลุ่มทางภูมิภาค เทียบเคียงกับกลุ่มอื่นๆ ได้ มุ่งหวังให้ใกล้เคียงกับ TPP
หากการเจรจากลุ่มการค้าเสรีนี้สำเร็จ ประเทศในความตกลง RCEP จะกลายเป็นกลุ่มการค้าเสรีใหญ่ที่สุด และมีตลาดรองรับมากที่สุดในโลก เนื่องจากประเทศในกลุ่มสมาชิก RCEP มีจีดีพีรวมกว่า 16,761 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีการเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยประชากรรวมกว่า 3,358 ล้านคน
โดยมีสมาชิกที่สำคัญเป็น 2 ประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจ (BRICS) คือ จีนและอินเดีย ที่ประกอบไปด้วยประชากรกว่า 3,000 ล้านคน ขนาด GDP ประมาณ 50 % ของ GDP โลก และเป็นเขตเศรษฐกิจที่ส่งออกสินค้าเป็นอันดับ 1 ของโลก มีกำลังซื้อของผู้บริโภคมาจากชนชั้นกลางที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบจะถือว่า RCEP มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าเศรษฐกิจไทยถึง 48 เท่า
ในด้านการค้า RCEP มีสัดส่วนการค้าในระดับโลกที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 17.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา ไทยค้าขายกับประเทศในกลุ่ม RCEP กว่า 2.55 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 56% ของยอดรวมการค้าของไทย RCEP จึงเป็นกลุ่มการค้าขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบมหาศาลต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ที่มา :http://thaipublica.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น